รอบรู้โควิด » ไวรัส คืออะไร

ไวรัส คืออะไร

11 สิงหาคม 2021
760   0

ถ้าเราเทียบไวรัสกับเซลล์ (โดยเฉพาะเซลล์มนุษย์) ต้องบอกว่าถ้าเซลล์มีขนาดเท่ากับลูกบาสเกตบอล ไวรัสจะมีขนาดเล็กจิ๋วมาก คือเท่ากับจุดเพียงหนึ่งจุดเท่านั้น โดยรูปร่างหน้าตาของไวรัสมีหลากหลาย เช่น เป็นทรงกลม (แบบโคโรนาไวรัสที่เราคุ้นเคยกันดีในตอนนี้) หรืออาจมีรูปร่างเป็นแท่ง เป็นเกลียว

ไวรัส คืออะไร

ไวรัส (Virus) คือ อนุภาคขนาดเล็กมาก (20-300 นาโนเมตร) จนสามารถหลุดรอดผ่านเครื่องกรองที่ใช้กรองแบคทีเรียได้ เราสามารถมองเห็นไวรัสโดยผ่านทางกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเท่านั้น ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าหรือกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา
 ไวรัสเปรียบเหมือนเป็นกาฝากที่อยู่ในร่างของสิ่งมีชีวิตอื่น (obligate intracellular parasite) เนื่องจากไม่สามารถเติบโตหรือแพร่พันธุ์นอกเซลล์อื่นได้ เพราะตัวไวรัสนั้นมีโครงสร้างแบบง่ายๆ ประกอบด้วยสารพันธุกรรมเพียงแค่หนึ่งชนิด อาจเป็น DNA หรือ RNA ก็ได้ห่อหุ้มด้วยเปลือกโปรตีนที่เรียกว่าแคปซิด ไม่มีเมตาโบลิซึมที่เป็นกระบวนการทางเคมีที่ทำให้ร่างกายสิ่งมีชีวิตทำงานได้ปกติ อีกทั้งยังไม่มีโครงสร้างย่อยขนาดเล็กที่มีหน้าที่เฉพาะที่เรียกว่าออร์แกเนลล์เป็นของตัวเอง จึงจำเป็นต้องอาศัยการทำงานจากเซลล์โฮสต์หรือเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสเข้าไปฝังตัว ดังนั้นถ้าไวรัสแพร่กระจายอยู่ในอากาศแต่บริเวณนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย ไวรัสก็จะไม่สามารถเติบโตและแพร่พันธุ์ได้นั่นเอง

ไวรัสติดใครได้บ้าง

ไวรัสสามารถเข้าไปฝังตัวได้ทั้งในพืช สัตว์ และมนุษย์ตามชนิดและสายพันธุ์ของไวรัสนั้นๆ
โดยในปี 2429 ได้ค้นพบไวรัสชนิดแรกคือไวรัสทีเอ็มวี (TMV : tobacco mosaic virus) ที่ก่อให้เกิดโรคใบยาสูบด่างในพืชหลายชนิด เมื่อปี 2561 ประเทศจีนพบการระบาดเป็นวงกว้างของไวรัส ASF หรือ African swine fever virus ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แต่ไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสที่ไม่ติดต่อจากสัตว์ไปสู่มนุษย์และไวรัสที่เราคุ้นหูกันดีเช่นไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์และโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก จะเห็นว่าโดยปกติไวรัสจะไม่มีการติดต่อข้ามสายพันธุ์ ยกเว้นไวรัสนั้นจะเกิดการกลายพันธุ์ เช่น ไวรัสเอเวียนอินฟลูเอนซา (Avian Influenza virus) สายพันธุ์ H3N2 ที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกพัฒนาสายพันธุ์เป็น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สุนัข (Canine influenza A virus subtype H3N8) รวมถึงไวรัสโคโรนาที่ปกติเป็นไวรัสก่อโรคในสัตว์ แต่เมื่อกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ก็สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้ นักวิทยาศาสตร์เรียกการการกลายพันธุ์นี้ว่า human coronaviruses หรือ HCoVs

ไวรัสทำอะไรบ้าง

ไวรัสสามารถควบคุมกลไกของเซลล์โฮสต์ให้ทำการสร้างส่วนประกอบของไวรัสใหม่ได้ ดังนั้นการติดเชื้อไวรัสสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนเซลล์โฮสต์ เช่น ทำให้เซลล์ตาย, มีการรวมตัวของเซลล์ หรือทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ (transformation) กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

ป้องกันไวรัส ห่างไกลโรคระบาด

  • ไวรัสแต่ละชนิดมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ดังนั้นนักวิทยศาสตร์จะทำการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสเพื่อนำไปสู่การรับมือและผลิตวัคซีนในการป้องกันไวรัส
  • โดยปกติแล้วไวรัสจะถูกทำลายด้วยความร้อนเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงหรือแสงอัลตราไวโอเลต (UV) ในช่วง 100 – 400 นาโมเมตร
  • การใช้สารเคมีที่มีคุณสมบัติละลายไขมันในหรือทำให้โปรตีนและสารพันธุกรรมของไวรัสเสียสภาพไป เช่น คลอรีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น

รายละเอียด ไวรัสกับการฝังตัวในเนื้อเยื่อของมนุษย์
ทำไมไวรัสถึงมาปรากฏตัวยุ่งเกี่ยวกับมนุษย์หรือเซลล์อื่นๆ คำตอบที่ง่ายมากก็คือ เพราะแม้ไวรัสจะ ‘เกือบ’ ไม่มีชีวิต แต่มันก็ยังอยากมีชีวิตอยู่ อยากจำลองตัวเอง อยากให้เผ่าพันธุ์ของมันยังคงดำรงอยู่ต่อไป มันจึงต้อง ‘ใช้’ เรา..

เมื่อไวรัสไม่มีเมตาโบลิซึม มันก็เลยต้องเข้ามา ‘ขโมย’ ใช้เมตาโบลิซึมของเซลล์ แต่มันไม่ได้ต้องการพลังงานอะไรมากมาย ไวรัสอยากได้พลังงานแค่กระจิ๋วเดียวเพื่อเอาไว้ใช้ในกระบวนการ ‘จำลอง’ ตัวเอง (ซึ่งจะเรียกว่าแพร่พันธุ์ก็คงได้) แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ถ้ามันไม่ได้อยู่ในเซลล์ ไวรัสก็ไม่ต้องการพลังงานอะไรใดๆ เลย มันสามารถอยู่ของมันนิ่งๆ เหมือนกับก้อนหินไม่ต้องการพลังงานหล่อเลี้ยงให้มันคงรูปอยู่

ไวรัสบางชนิดอาจอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดหรือตั้งแต่เด็กๆ ด้วยซ้ำโดยไม่แสดงอาการอะไร เช่นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสในวัยเด็ก แม้เราหายจากโรคก็ไม่ได้แปลว่าร่างกายจะปลอดจากไวรัส มันอาจผุดขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของโรคงูสวัสดิ์ได้ ถ้าร่างกายอ่อนแอ

นั่นจึงคือเหตุผลที่ไวรัส ‘อยู่ที่นี่’ กับเรา

เวลาเราบอกว่าใครสักคน ‘ติดเชื้อ’ (infect) ไวรัส แปลว่าไวรัสเข้าไปใช้กลไกและอุปกรณ์ต่างๆ ของเซลล์ เพื่อจำลองสารพันธุกรรมของมันเอง กระบวนการนี้เรียกว่า Replication

พูดแบบย่นย่อ กระบวนการ Replication มีขั้นตอนใหญ่ๆ แค่สองขั้นตอน ขั้นแรกก็คือ เมื่อไวรัสเข้าไปสู่ร่างกายแล้ว มันจะพยายามหา ‘ที่เกาะ’ กับผิวของเซลล์ ซึ่งที่ยึดเกาะนี้ ส่วนใหญ่ต้องมีลักษณะจำเพาะเจาะจง มันถึงจะเกาะได้ เราเรียกที่เกาะนี้ว่า ‘ตัวรับ’ หรือ Receptors

แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่สอง ขั้นตอนนี้ก็คือเมื่อสารพันธุกรรมหลุดเข้ามาในเซลล์แล้ว ก็จะเกิดขั้นตอนที่ซับซ้อน คือมีการจำลองตัวเองขึ้นมา โดย ‘อุปกรณ์’ ในเซลล์ที่สำคัญมากต่อการจำลองตัวเองขึ้นมาก็คือ ออร์กาเนล (organelle) บางอย่างในเซลล์ ทำให้เซลล์นั้นๆ เป็นเสมือน ‘โรงงานผลิตไวรัส’ คือจะเกิดการสร้างสารพันธุกรรมของไวรัสขึ้นมามากมาย จากนั้นแต่ละสารก็จะสร้างเปลือกหรือแคปสิดขึ้นมาห่อหุ้มตัวเองโดยใช้ทรัพยากรต่างๆ ของเซลล์ (พูดง่ายๆ ก็คือขโมยนั่นเอง)

ทีนี้เซลล์ก็จะมีสภาพเหมือนคนที่ถูกเสกอะไรเข้าท้อง เมื่อท้องมีขนาดใหญ่มากเข้าก็ย่อมแตกออก ไวรัสจึงแพร่ออกมาข้างนอกได้ ที่จริงแล้ว ไวรัสสามารถแพร่ออกจากเซลล์ได้หลายวิธี วิธีหนึ่งก็คือทำให้เซลล์แตกดับทำลายไปเลย แต่อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า budding คือค่อยๆ ออกมาอย่างละมุนละม่อม ไม่ได้ทำให้เซลล์แตก

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไวรัสจะทวีจำนวนขึ้นมา แล้วหมุนวนเป็นวงจรเพื่อจำลองตัวเองให้มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็ก่อให้เกิดอาการของโรคขึ้นมา

ในด้านหนึ่ง, ไวรัสเป็นเหมือนเอเลี่ยนน่ากลัว น่ารังเกียจ น่ากำจัดทิ้ง

แต่การที่สิ่งที่ ‘เกือบ’ ไม่มีชีวิตนี้ – กลับมีความสามารถยิ่งใหญ่ในการผลาญพร่าชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนมากๆ อย่างมนุษย์ได้เป็นจำนวนมหาศาลนั้น ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นความน่าทึ่งอย่างยิ่งของกลไกแห่งธรรมชาติ

เป็นกลไกที่ทั้งเล็กจ้อย เรียบง่าย ซับซ้อน และทรงพลานุภาพไปได้พร้อมๆ กัน

ขอบคุณhttp://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4028/
https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&q=%..


>อาการของผู้ป่วยโควิด19 ตามระดับ สีเขียว, สีเหลือง, สีแดง