รอบรู้โควิด » ภูมิคุ้มกันหมู่

ภูมิคุ้มกันหมู่

26 กันยายน 2021
1438   0

ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity)

ชี้โรค-แจงยา เรื่องโดย… นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

” ..โรคหัด..เด็กๆ ที่แข็งแรงมักเป็นแล้วก็หายเอง และอยู่รอดปลอดภัยได้ ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ตลอดไปเชื้อหัดถึงแม้ว่าจะยังมีอยู่ในชุมชน ก็ไม่อาจทำให้เกิดโรคในเด็กๆ เหล่านี้ได้อีก เนื่องเพราะมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ.. “

คำว่า “Herd immunity” กลายเป็นคำที่คุ้นหูของคนทั่วไปหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ..

ความหมายของ “Herd immunity”

คำนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” หมายถึงภูมิคุ้มกันของหมู่คนจำนวนมากในชุมชน บางคนจึงใช้คำว่า “Community immunity”

ภูมิคุ้มกัน (immunity) ในที่นี้หมายถึงภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคติดเชื้อไวรัสที่ระบาดง่าย เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 เป็นต้น..

Herd immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ เกิดได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่

ภูมิคุ้มกันที่เกิดตามธรรมชาติ เกิดจากคนเราเกิดติดเชื้อ (เช่น เชื้อหวัด ไข้หวัดใหญ่) เข้าร่างกาย แล้วร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นขึ้นมาได้เอง เมื่อรับเชื้อครั้งใหม่ภูมิคุ้มกันก็จะทำลายเชื้อ ทำให้ไม่เป็นโรคนั้นๆ ได้

ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน ทำให้ป้องกันโรคได้ กล่าวคือ หลังจากร่างกายได้รับวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกันแล้ว เมื่อติดเชื้อ (ซึ่งมีวัคซีนใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อชนิดนั้นได้ เช่น วัคซีนป้องกันหัด หรือไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น) ก็จะไม่เป็นโรคนั้นๆ

ในการป้องกันการระบาดของโรค ด้วยหลักของ herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่นั้น จำเป็นต้องทำให้คนส่วนใหญ่ในชุมชน (ราวๆ ร้อยละ 80 ขึ้นไป) เกิดภูมิคุ้มกัน จะโดยธรรมชาติ (รอให้คนหมู่มากติดเชื้อกันแล้ว) หรือโดยการฉีดวัคซีน (คนที่ยังปกติดีได้รับวัคซีนกันเกือบถ้วนทั่ว) หรือทั้งสองอย่างรวมกันก็ได้

กรณีตัวอย่างของโรคหัดหรือหัดเยอรมัน

ในสมัยเก่าก่อน ที่ยังไม่มีการผลิตวัคซีนใช้ พบว่าโรคหัดระบาดทุกๆ 2-3 ปี

บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมจึงไม่พบการระบาดทุกปีเล่า

คำตอบ ก็คือ เกี่ยวข้องกับของ herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ นั่นเอง

หัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง (ชื่อว่า Measles virus) ซึ่งติดต่อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งกว่าไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และพบการระบาดในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดอาการไข้สูงและมีผื่นแดงตามตัว..

โรคนี้นับเป็นภัยร้ายอันเป็นที่รู้จักกันดีของคนเรามาแต่โบราณกาล เนื่องเพราะการระบาดแต่ละครั้งมักทำให้เด็กที่ขาดสารอาหาร หรือร่างกายอ่อนแอ ตายจากโรคแทรกซ้อนจำนวนมาก (เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ) องค์การอนามัยโลกคาดว่า ก่อนมีวัคซีนใช้ โรคหัดคร่าชีวิตเด็กทั่วโลกราวปีละ 2.6 ล้านคน

เด็กๆ ที่แข็งแรงมักเป็นแล้วก็หายเอง และอยู่รอดปลอดภัยได้ ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ตลอดไป

เชื้อหัดถึงแม้ว่าจะยังมีอยู่ในชุมชน ก็ไม่อาจทำให้เกิดโรคในเด็กๆ เหล่านี้ได้อีก เนื่องเพราะมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

รอจนกว่ามีเด็กๆ ที่เกิดใหม่ ซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด สั่งสมเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งตกประมาณ 2-3 ปี ก็จะเกิดการระบาดรอบใหม่

ปัจจุบัน เด็กไทยส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดกันแล้ว จึงแทบจะไม่พบมีการระบาดของโรคนี้ สมัยแรกๆ ที่มีวัคซีนใช้ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่คุ้นชินกับการระบาดของโรคหัด และเชื่อฝังใจว่าเด็กที่เกิดมาจะต้องเป็นหัดทุกคน ไม่เชื่อว่าจะมีหนทางที่ทำให้เด็กๆ รอดพ้นจากโรคนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในชุมชนบางแห่งที่ไม่เชื่อหรือมีความเชื้อผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีนและไม่ได้พาลูกหลานไปฉีดวัคซีน ก็อาจพบโรคหัดระบาดได้เป็นครั้งคราว องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ในปี 2561 แม้ว่าจะมีวัคซีนใช้แล้ว แต่โรคนี้ยังคร่าชีวิตเด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 5 ปี) ทั่วโลกราว 140,000 คน

ส่วนหัดเยอรมัน (โบราณเรียก “โรคเหือด”) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีกชนิดหนึ่ง (ชื่อว่า Rubella virus) ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีไข้และผื่นขึ้นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าหัด และส่วนใหญ่เป็นแล้วหายได้เป็นปกติ อันตรายที่สำคัญของโรคหัดเยอรมัน คือ ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นโรคนี้ขณะตั้งครรภ์เกิดความพิการ

สมันก่อนที่มีวัคซีนใช้ ในประเทศอังกฤษ เมื่อพบเด็กเป็นโรคหัดเยอรมัน จะจัดให้เด็กๆ ที่ยังไม่เป็นโรคมาอยู่รวมกลุ่ม “สังสันทน์” กับเด็กที่ป่วย เรียกว่า “Rubella party” เพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติ

ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันหัดเยอรมัน ซึ่งมักรวมอยู่ในวัคซีนที่ป้องกันโรคหัดและคางทูม เราจึงใช้วัคซีนรวม 3 โรคนี้เรียกว่า “วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (Measles-Mumps-Rubella vaccine หรือ MMR)” ฉีดให้เด็ก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งพบให้การระบาดของ 3 โรคนี้น้อยลงมากแล้ว

โรคโควิด-19 กับภูมิคุ้มกันหมู่

ในช่วงแรกของการระบาด มีผู้นำของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันตก มองว่าโควิด-19 เป็นเพียงโรคที่คล้ายไข้หวัด คือ มีอันตรายน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นแล้วมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง จึงไม่ได้ออกมาตรการเข้มในการป้องกัน ปล่อยให้มีการติดเชื้อในชุมชน และเชื่อว่าเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติแบบเดียวกับหัดเยอรมันในสมัยก่อนโรคก็จะหยุดระบาดไปได้เอง..

ความจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า ถึงแม้คนอายุน้อยเป็นโรคนี้แล้วหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่อาจป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงสูง (ได้แก่ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง) ติดโรคได้

ในหลายๆ ประเทศจึงพบโรคนี้ระบาดกันหลายระลอก เกิดมีผู้ป่วยในประเทศนับจำนวนเป็นล้านๆ คน และคร่าชีวิตผู้คนนับแสนๆ คน

เรื่องนี้ให้อุทาหรณ์ว่า การขาดความรู้ (เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่) และการยึดติดกับประสบการณ์เก่า (เรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น หัดเยอรมัน) ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงและยาวนานได้

ในปัจจุบัน นอกจากการออกมาตรการเข้มในการป้องกันโรคแล้ว ทุกประเทศก็เลิกฝากความหวังกับภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติแล้ว และได้หันมาเร่งจัดหาวัคซีนโควิด ฉีดให้ประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากวัคซีนให้ได้มากและเร็วที่สุด เพื่อกำราบโรคนี้ให้อยู่หมัดในเร็ววัน ☯

cr-หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 507 เดือนกรกฎาคม 2564
https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2339
https://www.google.com/search?client=firefox-b..
https://www.healthlabclinic.com/%E0%B8%A0….