ยูทูป » ไฟเซอร์ พัฒนายากินชนิดเม็ดรักษาโควิด ลดเข้าร.พ.และลดเสียชีวิต 89%

ไฟเซอร์ พัฒนายากินชนิดเม็ดรักษาโควิด ลดเข้าร.พ.และลดเสียชีวิต 89%

6 พฤศจิกายน 2021
559   0

ไฟเซอร์ประกาศความสำเร็จยาเม็ดPaxlovid รักษาโควิด ลดการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต ในผู้ป่วยเสี่ยงสูงได้ถึง 89% เตรียมยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉินในสหรัฐ

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 บลูมเบิร์ก รายงานว่า ไฟเซอร์ อิงก์ ประกาศว่า ยารักษาโควิด-19 ของบริษัท ช่วยลดการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ถึง 89% ซึ่งบริษัทคาดว่าผลลัพธ์ดังกล่าวจะช่วยยกระดับการรักษาโควิดได้ โดยหลังการประกาศข่าวนี้ หุ้นของไฟเซอร์ อิงก์ ถีบตัวสูงขึ้นถึง 11% ในช่วงก่อนเปิดตลาด..

..ไฟเซอร์ผู้ผลิตยาสัญชาติอเมริกันเผยในแถลงการณ์ว่า บริษัทจะไม่รับผู้ป่วยรายใหม่เพื่อมาเข้าร่วมการทดลองรักษาอีกต่อไป เนื่องจากประสิทธิภาพที่มีอย่างล้นหลามของตัวยา และบริษัทวางแผนที่จะส่งผลการศึกษาไปยังหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ เพื่อขออนุมัติใช้ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด

ผลลัพธ์ที่ได้ของไฟเซอร์ ทำให้ขณะนี้มีผู้ผลิตยา 2 แห่ง ที่นำเสนอยารักษาผู้ป่วยโควิดในระยะเริ่มต้น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว เมอร์ค แอนด์ โค และ ริดจ์แบ็ก ไบโอเทราพิวติกส์ แอลพี ได้ส่งยาที่กำลังทดลองของพวกเขามายังหน่วยงานของสหรัฐ หลังผลการศึกษาชี้ว่ามันสามารถลดความเสี่ยงจากการป่วยหนักหรือเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่งในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง

ยาเม็ดที่สามารถนำไปกินที่บ้านได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมวิกฤตโควิดทั่วโลก

โฆษกไฟเซอร์กล่าวด้วยว่า หลังยื่นขออนุมัติใช้ในสหรัฐแล้ว อีกไม่นานบริษัทจะยื่นขออนุมัติใช้ไปยังหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ

ไฟเซอร์ได้ทดลองยาชนิดนี้กับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจำนวน 1,219 ราย โดย 5 วันหลังการรักษาด้วยยา พบว่ายาสามารถลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลได้มาก เมื่อกินยาหลังจากเริ่มมีอาการภายใน 3 หรือ 5 วัน..

ยาที่ชื่อว่า แพกซ์โลวิด (Paxlovid) จะจับตัวกับเอนไซม์ที่เรียกว่า โปรตีเอส เพื่อหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ซึ่งยาสำหรับรักษาเอชไอวีบางชนิดก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน

โดยรวมแล้ว มีเพียง 0.8% ของผู้ที่เริ่มรักษาภายใน 3 วันหลังมีอาการป่วย ที่ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครเสียชีวิตจากการทดลองใช้ยานี้ ขณะที่ 7% ของผู้ที่ใช้ยาหลอก มีทั้งที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต

ส่วนผู้ที่ได้รับยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ มีผลลัพธ์ใกล้เคียงกันกับผู้ที่ได้รับยาภายใน 3 วันหลังแสดงอาการ.