รอบรู้โควิด » เทียบสเปก ยาเม็ดต้านโควิด ของ “เมอร์ค”และ“ไฟเซอร์”ที่ไทยกำลังสั่งมา

เทียบสเปก ยาเม็ดต้านโควิด ของ “เมอร์ค”และ“ไฟเซอร์”ที่ไทยกำลังสั่งมา

9 พฤศจิกายน 2021
988   0

เปรียบเทียบคุณสมบัติยาเม็ดต้านโควิด-19 จากเมอร์คและไฟเซอร์ สองความหวังใหม่ของมนุษยชาติ

เป็นเรื่องดีตามกันมาติด ๆ สำหรับ “ยาเม็ดต้านโควิด-19” ที่ล่าสุดบริษัทไฟเซอร์ หนึ่งในผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ประกาศความสำเร็จยาเม็ดตัวใหม่ชื่อ “แพกซ์โลวิด (PAXLOVID)” ขณะที่เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา บริษัทเมอร์คจากเยอรมนีก็เพิ่งประกาศผลการทดลองยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)” ไปเช่นกัน

โมลนูพิราเวียร์

เริ่มกันที่ยาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์คที่มีการเผยแพร่ผลการทดลองออกมาก่อน ยาตัวนี้มีสรรพคุณในการยับยั้งการแบ่งตัวและแพร่พันธุ์ของไวรัส โดยจะไปเปลี่ยนหรือทำให้เกิดข้อผิดพลาดในสารพันธุกรรมของไวรัส จนมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้

ยาโมลนูพิราเวียร์นี้จะใช้ 1 คอร์ส 40 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละ 4 เม็ด

สำหรับประสิทธิภาพของโมลนูพิราเวียร์นั้น จากการทดลองในประชากรวัยผู้ใหญ่ 775 รายที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยร้ายแรงอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ ครึ่งหนึ่ง 385 รายได้รับยาจริง อีกครึ่งหนึ่ง 377 รายได้รับยาหลอก..
พบว่า มีผู้ป่วย 53 ราย (14%) ในกลุ่มยาหลอกต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เทียบกับเพียง 28 ราย (7%) ของกลุ่มผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ และไม่มีผู้เสียชีวิตเลยในกลุ่มที่ได้ยา แต่มีผู้เสียชีวิต 8 รายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

ทำให้เมอร์คแถลงผลการทดลองว่า โมลนูพิราเวียร์สามารถลดอัตราการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50% หากให้ยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ

เมอร์คคาดว่า ปีนี้จะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้อย่างน้อย 10 ล้านคอร์ส และในปีหน้าจะผลิตอีก 20 ล้านคอร์ส

ปัจจุบัน มีเพียงประเทศเดียวที่อนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ได้ นั่นคือสหราชอาณาจักร ขณะที่สหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนประเทศไทยเอง อยู่ระหว่างการขอขั้นทะเบียน อย. และขออนุมัติงบประมาณสำหรับการจัดซื้อ

แพกซ์โลวิด

ด้านยาเม็ดของไฟเซอร์จัดอยู่ในประเภท “โปรตีเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitor)” แบบเดียวกับยารักษา HIV โดยมีสรรพคุณสามารถย่อยสลายโปรตีนได้ โดยแพกซ์โลวิดจะย่อยสลายเอนไซม์ที่โควิด-19 ใช้ในการแบ่งตัวและแพร่พันธุ์ รวมถึงสลายโปรตีนหนามของโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ในการยึดเกาะและแพร่เชื้อในจมูก ลำคอ และปอดของเรา

ยาแพกซ์โลวิดจะใช้ 1 คอร์ส 30 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละ 3 เม็ด

ผลการทดลองแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มได้รับยาภายใน 3 วันหลังแสดงอาการ 774 คน และกลุ่มได้รับยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ 1,219 คน

ในกลุ่มแรกแบ่งย่อยอีกเป็นกลุ่มได้รับยาแพกซ์โลวิดของจริง 389 คน ได้รับยาหลอก 385 คน พบว่า ในกลุ่มได้รับยาจริง มีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเพียง 3 ราย หรือ 0.8% และไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ขณะที่กลุ่มยาหลอกมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล 27 ราย หรือ 7% และมีผู้เสียชีวิต 7 ราย

ส่วนในกลุ่มสอง ได้รับยาจริง 607 ราย ได้รับยาหลอก 612 ราย พบว่า กลุ่มได้รับยาจริงป่วยเข้าโรงพยาบาล 6 ราย หรือ 1% และไม่มู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มยาหลอกป่วยเข้าโรงพยาบาล 41 ราย หรือ 6.7% และมีผู้เสียชีวิต 10 ราย

ไฟเซอร์จึงสรุปว่า การให้ยาแพกซ์โลวิดแก่ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงภายใน 3 วันหลังแสดงอาการ ลดโอกาสเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 89% ส่วนการให้ยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ ประสิทธิภาพลดลงเหลือ 85%

ยาของไฟเซอร์ใช้ร่วมกับริโทนาเวียร์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร และรบกวนการทำงานของยาอื่น ๆ ได้

ไฟเซอร์คาดว่า ปีนี้จะผลิตยาแพกซ์โลวิดได้อย่างน้อย 180,000 คอร์ส และในปีหน้าจะผลิตอีก 50 ล้านคอร์ส

ปัจจุบัน ไฟเซอร์อยู่ระหว่างยื่นข้อมูลและเอกสารให้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) พิจารณาอนุมัติใช้จริง ส่วนประเทศไทยมีข้อมูลเปิดเผยว่า กรมการแพทย์กำลังหารือร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย
cr-Bloomberg / Reuters
https://twitter.com/workpointTODAY/status/1457737902469763080
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%…
https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&q=%E0%B9%80..