รอบรู้โควิด » หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) อาการแบบไหนไม่รุนแรง&แบบไหนต้องระวังช่วง 30 วัน

หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) อาการแบบไหนไม่รุนแรง&แบบไหนต้องระวังช่วง 30 วัน

12 พฤศจิกายน 2021
1529   0

อาการหลังฉีดไฟเซอร์ที่ไม่รุนแรง พบได้ทั่วไป

สำหรับผู้ฉีดวัคซีนอายุ 16 ปีขึ้นไป

    ปวดบริเวณที่ฉีด พบมากกว่า 80%
    อ่อนล้า พบมากกว่า 60%
    ปวดศีรษะ พบมากกว่า 50%
    ปวดกล้ามเนื้อและหนาวสั่น พบมากกว่า 30%
    ปวดข้อ พบมากกว่า 20%
    มีไข้ พบมากกว่า 10%
    บวมบริเวณที่ฉีด พบมากกว่า 10%

          โดยอาการเหล่านี้หายเป็นปกติภายในไม่กี่วันหลังฉีดวัคซีน

สำหรับผู้ฉีดวัคซีนอายุ 12-15 ปี

    ปวดบริเวณที่ฉีด พบมากกว่า 90%
    อ่อนล้า พบมากกว่า 70%
    ปวดศีรษะ พบมากกว่า 70%
    ปวดกล้ามเนื้อและหนาวสั่น พบมากกว่า 40%
    มีไข้ พบมากกว่า 20%
    ปวดข้อ พบมากกว่า 20%
    คลื่นไส้ อาเจียน พบน้อยกว่า 10%
    ผิวหนังแดงบริเวณที่ฉีดยา พบน้อยกว่า 10%

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อย (น้อยกว่า 1%) เช่น

    ภาวะต่อมน้ำเหลืองโต
    ผื่น คัน ลมพิษ
    นอนไม่หลับ
    ปวดตามแขน-ขา
    ความรู้สึกไม่สบาย
    คันบริเวณที่ฉีดยา

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว

          อาการไม่สบายข้างต้นเป็นปฏิกิริยาปกติของร่างกายที่กำลังสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งบางคนอาจไม่แสดงอาการก็ได้ และไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนคนที่มีอาการหลังฉีดก็มักจะหายใน 1-2 วัน โดยในระหว่างที่มีอาการก็มีข้อปฏิบัติที่แนะนำ ดังนี้..

     * ประคบแขนที่ปวดบวมด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น งดยกของหนัก

ปวดแขนหลังฉีดวัคซีน ทำยังไง บรรเทาปวดด้วยวิธีไหนได้บ้าง

     * ดื่มน้ำมาก ๆ

     * หากมีไข้สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล บรรเทาอาการปวด ลดไข้ ได้ทุก 6 ชั่วโมง

     * หากมีอาการข้างเคียงนานเกิน 2 วัน หรือมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์


อาการหลังฉีดไฟเซอร์ที่รุนแรง แต่พบได้น้อยมาก
อาการแพ้อย่างรุนแรง

          เป็นภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันจากการตอบสนองตัวยาของร่างกายที่ผิดปกติ ทำให้มีอาการหายใจลำบาก

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
          พบอุบัติการณ์ของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) หรือภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา โดยมักพบในการฉีดเข็มที่ 2 และเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด ใครเสี่ยงบ้าง?

          ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) เมื่อเดือนกันยายน 2564 พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กผู้ชายอายุ 12-17 ปี อยู่ที่ 62.5 ต่อล้านโดส ส่วนในเด็กผู้หญิงอายุ 12-17 ปี อยู่ที่ 17 ต่อล้านโดส โดยเกิดอาการภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1 แต่ส่วนมากมีอาการไม่รุนแรง เมื่อรักษาอย่างถูกต้องก็สามารถหายกลับมาเป็นปกติได้ ขณะที่ผู้ใหญ่จะมีความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบลดลงเรื่อย ๆ และอัตราต่ำมากคือ ไม่ถึง 1 ในล้าน

          สอดคล้องกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า อัตราการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคเยื่อหุ้มหัวใจ หลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ในเด็กผู้ชายที่มีสุขภาพดี มีอัตราสูงขึ้น ซึ่งทำให้อัตราความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กผู้ชายอายุ 12-15 ปี มากกว่าความเสี่ยงติดเชื้อโควิด ดังนี้..

    เด็กชาย

    อายุ 12-15 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 162.2 คน ใน 1 ล้านคน
    อายุ 16-17 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 94 คน ใน 1 ล้านคน

    เด็กหญิง

    อายุ 12-15 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 13 คน ใน 1 ล้านคน
    อายุ 16-17 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 13.4 คน ใน 1 ล้านคน

          สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลจนถึงวันที่ 5 กันยายน 2564 ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้วประมาณ 1 ล้านโดส พบเด็กชายอายุ 13 ปี เพียง 1 คน ที่มีภาวะดังกล่าว คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส ซึ่งผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงและรักษาหายเป็นปกติแล้ว 

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิดเกิดจากอะไร
ปกติแล้วภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรืออาจเป็นผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือเป็นผลจากการอักเสบอื่น ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจ

          แต่ในกรณีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด มีเพียงการสันนิษฐานว่า ตัววัคซีนหรือสารประกอบในวัคซีนอาจทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายไปทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ โดยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สังเกตได้ ได้แก่..

     – เจ็บแน่นหน้าอก (แบบเฉียบพลันและอาการคงอยู่)   

     – เหนื่อยง่าย

     – หายใจหอบ หายใจสั้น

     – รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว หรือใจสั่น

     – หากอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือช็อกได้ 
          สำหรับอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีน mRNA ดังนั้นหากมีอาการลักษณะนี้เกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ หรือโทร. 1669 ทันที

วัคซีน mRNA ปลอดภัยหรือไม่ ?

          กรณีเป็นผู้ใหญ่จะพบอัตราเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยมาก เพราะส่วนมากจะพบภาวะดังกล่าวในเด็กอายุ 12-17 ปี และมักพบในเด็กผู้ชายมากกว่า ซึ่งหลายคนมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย แต่จะตรวจพบจากการเจาะเลือดหรือการตรวจในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษา สามารถรักษาหายเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน

          ดังนั้น หากเป็นผู้ใหญ่สามารถฉีดวัคซีนชนิด mRNA ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากนัก แต่ถ้าเป็นเด็กอายุ 12-17 ปี ควรศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน ซึ่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในเด็ก (ฉบับที่ 3) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ดังนี้..

          – เด็กและวัยรุ่นอายุ 16-18 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ได้ทุกรายที่ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน
          – เด็กอายุ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม
          – เด็กผู้หญิงอายุ 12-15 ปี ทุกคน สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์ได้ 2 เข็ม
          – เด็กผู้ชายอายุ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี ที่แข็งแรงดี ให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม และชะลอการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปก่อน จนกว่าจะมีคำแนะนำเพิ่มเติม

          เนื่องจากข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนในเด็กผู้ชายยังไม่เพียงพอ จากข้อมูลในสหรัฐอเมริกาพบความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในเด็กชายอายุ 12 ปี จนถึงน้อยกว่า 16 ปี มีจำนวน 162.2 คน ต่อการฉีดวัคซีนเข็มสอง 1 ล้านโดส ขณะที่เด็กผู้หญิงพบอัตราการเกิดเพียง 13 คน ต่อการฉีดวัคซีนเข็มสอง 1 ล้านโดส     

          นอกจากนี้ สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว ควรงดออกกำลังกายอย่างหนัก หรืองดการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ภายหลังฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเข็มที่ 1 หรือเข็มที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่นชาย เพื่อไม่ให้หัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และหากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ควรรีบพบแพทย์
หมายเหตุ : ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ควรปรึกษาแพทย์ประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีน mRNA

cr- https://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php/topic,100509
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/Pfizer-BioNTech
https://www2.hse.ie/screening-and-vaccinations/covid-19-vaccine/pfizer-biontech/side-effects